การผลิตรถยนต์ในเยอรมนี ต้องเจอต้นทุนค่าแรงสูงสุดในโลก 108,000 บาท ต่อคัน แพงกว่าจีน 6 เท่า

สรุปข่าว: เยอรมนีเผชิญวิกฤตต้นทุนแรงงานสูงในอุตสาหกรรมรถยนต์
- ต้นทุนแรงงานผลิตรถในเยอรมนี สูงถึง $3,300 หรือ 108,000 บาท ต่อคัน สูงที่สุดในโลก
- เทียบกับ สหรัฐฯ $1,340, จีน $585, เม็กซิโก $305, โรมาเนีย $273, และ โมร็อกโกเพียง $106
- Audi และค่ายเยอรมันอื่น ๆ เริ่มพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังสหรัฐฯ เพื่อลดต้นทุนและเลี่ยงภาษีนำเข้า
- การผลิตรถในเยอรมนีลดลงกว่า 25% ในรอบ 10 ปี และอาจลดลงต่อเนื่อง
- ผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนขนาดกลาง มีแนวโน้มปิดกิจการหรือลงทุนต่างประเทศ
- โมร็อกโกกลายเป็นตัวเลือกที่ “คุ้มสุด” ด้านค่าแรงสำหรับการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์
งานวิจัยใหม่เผยข้อเสียเปรียบใหญ่ที่บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ในเยอรมนีกำลังเผชิญอยู่ ต้นทุนแรงงานที่สูงลิ่วในเยอรมนี ทำให้ต้นทุนต่อคันเพิ่มขึ้นถึง 3,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 108,668 บาท)
ในขณะที่ต้นทุนแรงงานในสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 1,340 ดอลลาร์ หรือประมาณ 44,126 บาท และในโมร็อกโกเพียง 106 ดอลลาร์เท่านั้น หรือประมาณ 3,490 บาท
เมื่อมาตรการภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีทรัมป์เริ่มมีผลบังคับใช้ บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติ รวมถึงจากเยอรมนี เริ่มหันมาพิจารณาการตั้งโรงงานผลิตในสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี โดยกรณีของ Audi อาจหมายถึงการผลิตรถยนต์ในอเมริกาเป็นครั้งแรก
อย่างไรก็ตาม การหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าไม่ใช่แรงจูงใจเดียวในการย้ายฐานการผลิตจากเยอรมนีไปยังสหรัฐฯ เพราะต้นทุนแรงงานในประเทศที่สูงมาก กำลังเป็นภาระใหญ่ที่กดดันอุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมนีอย่างหนัก
รายงานฉบับใหม่จากบริษัทที่ปรึกษา Oliver Wyman ได้เปิดเผยช่องว่างมหาศาลของต้นทุนแรงงานระหว่างเยอรมนีกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยช่วยอธิบายว่าทำไมการผลิตรถยนต์ในประเทศเยอรมนีจึงลดลงมากกว่า 25% ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา และแนวโน้มนี้มีโอกาสจะดำเนินต่อไป
งานวิจัยเปรียบเทียบโรงงานผลิตรถยนต์ 250 แห่งทั่วโลก พบว่า เยอรมนีคือประเทศที่มีต้นทุนแรงงานต่อคันสูงที่สุดในโลก โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3,300 ดอลลาร์ต่อคัน ครอบคลุมทั้งค่าจ้าง เงินสมทบเงินบำนาญ และสวัสดิการอื่น ๆ หากย้ายการผลิตไปยังสหรัฐฯ จะสามารถลดต้นทุนตรงนี้ได้มากกว่าครึ่ง
แต่แม้จะผลิตในสหรัฐฯ ก็ยังแพงกว่าในจีนอยู่ดี เพราะจีนมีต้นทุนแรงงานต่อคันเพียง 585 ดอลลาร์ หรือ 19,264 บาท ในบางกรณี การผลิตรถยนต์ในเยอรมนีอาจแพงกว่าผลิตในจีนถึง 7,800 ดอลลาร์ หรือประมาณ 256,000 บาท ต่อคันเลยทีเดียว ตามรายงานเดียวกันนี้
ฟาเบียน แบรนด์ท (Fabian Brandt) หัวหน้าสาขาเยอรมนีของ Oliver Wyman ให้สัมภาษณ์กับสื่อ Handelsblatt ของเยอรมนีว่า “คำถามคือ เราจะยังสามารถรักษาการผลิตรถยนต์ในเยอรมนีต่อไปได้อย่างไรในอนาคต ถ้าปริมาณการผลิตยังคงลดลง ผู้ผลิตชิ้นส่วนขนาดกลางหลายรายอาจต้องปิดกิจการหรือลงทุนในต่างประเทศแทน”
และหากปัจจัยเรื่องภาษีไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป และเป้าหมายหลักกลายเป็นการลดต้นทุนแรงงาน ก็ยังมีตัวเลือกที่ถูกกว่าจีนอีกหลายประเทศ เช่น เม็กซิโกที่ต้นทุนแรงงานต่อคันอยู่ที่ 305 ดอลลาร์ หรือโรมาเนียที่เพียง 273 ดอลลาร์
แต่ประเทศที่ถูกที่สุดและคุ้มค่าที่สุดในการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ คือโมร็อกโก ที่มีต้นทุนแรงงานต่อคันเพียง 106 ดอลลาร์ ซึ่งถูกกว่าการผลิตในเยอรมนีถึงสามสิบเท่า ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าคนงานในโรงงาน Renault ที่โมร็อกโกได้รับค่าจ้างเท่าไร แต่ตัวเลขนี้อาจทำให้ Shawn Fain ประธานสหภาพแรงงานรถยนต์สหรัฐฯ ถึงกับเป็นลมได้เลยทีเดียว