TOYOTA งานเข้า เจ้าของ Mirai ฟ้องกลุ่ม ในสหรัฐฯ ปมขายรถไฮโดรเจนไร้สถานีเติม แถมแพง!

Advertisement
ความฝันแห่งไฮโดรเจนที่พังทลายสำหรับผู้ใช้รถในแคลิฟอร์เนีย
คำสัญญาเกี่ยวกับอนาคตพลังงานไฮโดรเจนกลายเป็นฝันร้ายสำหรับเจ้าของรถหลายร้อยรายในรัฐแคลิฟอร์เนีย ขณะนี้ผู้ใช้รถ Toyota Mirai ซึ่งเป็นรถฟิวเซลล์เรือธงของโตโยต้า กำลังยื่นฟ้องบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่รายนี้ ร่วมกับพันธมิตรสำคัญหลายราย เช่น ผู้ให้บริการสถานีเติมไฮโดรเจน โดยอ้างว่าถูกหลอกลวงเกี่ยวกับความพร้อมของเครือข่ายสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจน
ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานเริ่มพังทลายและราคาน้ำมันไฮโดรเจนพุ่งสูง เจ้าของรถจำนวนมากต้องผ่อนรถที่ขับไม่ได้
พลังงานสะอาดที่ผิดพลาด ?
แซม ดานนา (Sam D’Anna) เจ้าของรถ Mirai เผยว่า เขาแทบไม่ได้ใช้รถราคา 75,000 ดอลลาร์ หรือ 2.42 ล้านบาท ของเขาเลย เพราะสถานีเติมไฮโดรเจนใกล้บ้านกลับหยุดให้บริการ หลังจากเติมครั้งล่าสุดเขาพบว่า สถานีถัดไปอยู่ห่างออกไปเกือบ 35 กม. แม้ Mirai จะมีระยะทางวิ่งตามมาตรฐาน EPA ถึง 464 กม. แต่ขณะนั้นรถมีระยะเหลือเพียง 35 กม.
“แย่มาก หัวใจผมหล่นวูบ” ดานนาเล่าให้ Sacramento Bee ฟัง
เขากลายเป็นหนึ่งในกลุ่มโจทก์ร่วมในการฟ้องร้องแบบกลุ่ม (Class Action) ต่อ Toyota, บริษัท FirstElement Fuel ผู้ให้บริการสถานี, กลุ่ม Hydrogen Fuel Cell Partnership รวมถึงผู้ว่าการรัฐ Gavin Newsom โดยกล่าวหาว่า Toyota ขายรถโดยรู้ว่าระบบสนับสนุนยังไม่พร้อม ทำให้ผู้ซื้อถูกผูกติดกับสินเชื่อที่แทบไม่สามารถใช้รถได้
ปัจจุบัน Mirai ของเขาถูกคลุมผ้าอยู่ที่บ้านพ่อ ขณะที่เขายังต้องผ่อนเดือนละเกือบ 1,100 ดอลลาร์ หรือ 35,000 บาท พร้อมกับอีกคันคือ Ford F-150 Hybrid ที่ซื้อในปี 2023 ซึ่งต้องผ่อน 1,200 ดอลลาร์ต่อเดือน หรือ 38,800 บาท
โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง
แคลิฟอร์เนียเคยมีวิสัยทัศน์ที่กล้าหาญในการพัฒนาเครือข่ายสถานีไฮโดรเจน โดยรัฐลงทุนหลายสิบล้านดอลลาร์เพื่อสร้างเครือข่ายสถานีเติมเชื้อเพลิง ขณะที่ค่ายรถอย่าง Toyota, Hyundai และ Honda ก็เปิดตัวรถปล่อยไอเสียเป็นศูนย์ที่ใช้ไฮโดรเจน
แต่ในความเป็นจริง สถานีที่ให้บริการจริงมีเพียงประมาณ 50 แห่งทั่วรัฐ ตามข้อมูลจาก Hydrogen Fuel Cell Partnership ขณะเดียวกันบริษัทใหญ่เช่น Shell ก็ถอนตัวจากตลาดและปิดสถานีหลายแห่ง
แม้สถานีจะเปิดให้บริการ แต่กลับมีปัญหาซ่อมบำรุงและขาดแคลนไฮโดรเจนบ่อยครั้ง ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ราคาน้ำมันไฮโดรเจนพุ่งจาก 70 ดอลลาร์ หรือ 2,266 กม. เป็นเกือบ 200 ดอลลาร์ต่อครั้ง หรือ 6,476 บาท ตามรายงานของ Sacramento Bee
“ปัญหาไม่ใช่เทคโนโลยี แต่เป็นสิ่งแวดล้อมโดยรอบที่ยังไม่พร้อม” – Patrick Peterson, ผู้เชี่ยวชาญจาก GoodCar.com
ความเชื่อที่ต้องแลกมาด้วยราคาแพง
ริกกี้ แยป (Ricky Yap) ซื้อ Mirai ปี 2016 ในราคาเพียง 16,000 ดอลลาร์ หรือ 518,000 บาท ในปี 2020 พร้อมบัตรเติมน้ำมันไฮโดรเจนล่วงหน้าอีก 16,000 ดอลลาร์ หรือ 518,000 บาท ตอนแรกเขายังพอใช้งานได้บ้าง แต่ไม่นานสถานีใกล้บ้านก็เริ่มปิดตัว ทำให้ต้องรอนานถึง 4 ชั่วโมงในบางครั้ง
“ผมแทบไม่ได้ใช้เลยเพราะไม่อยากเครียด” แยปกล่าว เขาตัดสินใจยกเลิกประกันและขึ้นทะเบียนเป็นรถไม่ใช้งาน
โจทก์อีกคน Parita Shah ระบุว่า หลังสถานีใกล้บ้านเธอปิดลงหลังซื้อรถเพียงไม่นาน เธอนำรถไปตีราคา กลับได้เพียง 2,000 ดอลลาร์ หรือ 64,700 บาท จากราคารถตอนซื้อ 36,000 ดอลลาร์ หรือ 1.16 ล้านบาท
เสียงจากผู้บริโภคที่ถูกหลอก
ในเดือนกรกฎาคม 2025 เจ้าของ Mirai หลายรายรวมตัวประท้วงในลอสแอนเจลิส พร้อมถือป้ายข้อความว่า “Mirai คือคำโกหก” และ “Toyota ทำพลาดครั้งใหญ่”
Jason Ingber ทนายของกลุ่มโจทก์กล่าวว่า
“พวกเขาคิดว่าเชื่อถือได้ กลับกลายเป็นฝันร้าย”
การเยียวยาที่ยังไม่พอ
Toyota ยอมรับปัญหาสถานีไฮโดรเจน และหยุดขาย Mirai ใหม่ในพื้นที่ซาคราเมนโตตั้งแต่ปีก่อน พร้อมให้การช่วยเหลือรายกรณี เช่น บริการรถเช่าและเครดิตซ่อมบำรุง แต่ลูกค้าหลายคนระบุว่าไม่ใช่ทางออกระยะยาว
Shah ต้องเปลี่ยนรถเช่าทุก 25 วัน ทั้งที่ยังต้องผ่อน Mirai เดือนละ 326 ดอลลาร์อยู่ หรือ 10,500 บาท
ด้าน Hyundai ที่จำหน่าย Nexo SUV ก็ให้เช่าแบบ 21 วัน และเรียกรถคืนกว่า 1,600 คันจากปัญหาการรั่วไหลของไฮโดรเจน
ตลาดที่หดตัว
ตั้งแต่ปี 2012 มีรถไฮโดรเจนขายในแคลิฟอร์เนียน้อยกว่า 18,000 คัน โดย Toyota ถือสัดส่วนใหญ่ แต่ยอดขายเริ่มชะลอตัวอย่างมาก ขณะที่รถ EV และ Hybrid มียอดสะสมหลายล้านคันแล้วในรัฐ
งบสนับสนุนจากภาครัฐก็ลดลง จากปีละ 20 ล้านดอลลาร์ เหลือ 15 ล้านดอลลาร์ และกระจายไปยังสถานีอื่นนอกเหนือจากรถนั่งส่วนบุคคล
อดีตวุฒิสมาชิกรัฐ Josh Newman ซึ่งเป็นเจ้าของ Mirai ด้วยกล่าวว่า
“ผมโทษรัฐ เราควรมีสถานี 200 แห่งภายในปี 2025 แต่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง”
บทเรียนราคาแพงจากเทคโนโลยีสะอาด
แม้ Toyota จะกล้าลงทุนในเทคโนโลยีไฮโดรเจนตั้งแต่แรก แต่ปัจจุบันอนาคตของพาหนะส่วนบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนยังคงไม่แน่นอน
“ผู้บริโภคต้องการความน่าเชื่อถือ และต้องการความสะดวก” – Alex Black, CMO จาก EpicVIN กล่าว
และสำหรับเจ้าของ Mirai ที่ยังคงผ่อนชำระค่ารถที่จอดอยู่เฉย ๆ ความฝันสีเขียวของพวกเขากลับกลายเป็นบทเรียนอันขมขื่นแทน