Advertisement

Advertisement

TOYOTA ประเทศไทย แพ้คดีภาษีพรีอุส ต้องจ่าย 11,639 ล้านบาท ภายใน 30 วัน

TOYOTA ประเทศไทย แพ้คดีภาษีพรีอุส ต้องจ่าย 11,639 ล้านบาท ภายใน 30 วัน

Advertisement

Advertisement

วันที่ 15 กันยายน 2022 องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา โดยวิธีถ่ายทอดภาพและเสียงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไปยังศาลภาษีอากรกลาง คดีระหว่างบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โจทก์ กรมศุลกากร จำเลยที่ 1 และกรมสรรพากรจำเลยที่ 2 รวม 10 คดี คิดเป็นทุนทรัพย์รวมหมื่นล้านบาทเศษ ได้ตัดสินให้ โตโยต้า ประเทศไทย แพ้คดีภาษีนำเข้าชิ้นส่วน ของโตโยต้า พรีอุส โดยสั่งชำระกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท ภายใน 30 วัน

จำนวนเงินกว่า 11,639,786,094.84 บาท (หนึ่งหมื่นหนึ่งพันหกร้อยสามสิบเก้าล้านบาท) โดยแบ่งดังนี้

  • อากรขาเข้า 7,580,608,221.39 บาท (เจ็ดพันล้านบาท)
  • ภาษีสรรพสามิต 2,029,576,752.79 บาท (สองพันล้านบาท)
  • ภาษีเพื่อมหาดไทย 202,957,592.56 บาท (สองร้อยล้านบาท)
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,826,643,528.10 บาท (หนึ่งพันแปดร้อยล้านบาท)

คดีทั้งสิบเรื่องโจทก์ฟ้องว่า ระหว่างปี 2553 ถึง 2555 โจทก์นำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อนำมาผลิตรถยนต์โตโยต้า รุ่นพรีอุส โดยอาศัยสิทธิตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 และมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และตามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่นสำหรับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (JTEPA)

โจทก์จึงขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จำเลยทั้งสองให้การว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร เห็นว่า ชิ้นส่วนรถยนต์ที่โจทก์นำเข้าเมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้วมีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญขอรถยนต์โตโยต้า รุ่นพรีอุส และสามารถนำไปประกอบเป็นรถยนต์โตโยต้ารุ่นพรีอุส ได้ทันที จึงต้องจำแนกเข้าประเภทพิกัดของชิ้นส่วนที่สมบูรณ์หรือสำเร็จแล้วที่นำเข้ามาโดยถอดแยกออกจากกันหรือยังไม่ได้ประกอบเข้าด้วยกันในฐานะที่เป็นชิ้นส่วนครบชุดสมบูรณ์ ประเภทพิกัด 8703.23.81 หรือ 8703.23.51 (ตามช่วงเวลาที่นำเข้า)

ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร ข้อ 1 ข้อ 2 (ก) และข้อ 6 ในภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 จึงไม่ได้รับยกเว้นอากรและลดอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลังที่ออกมาเพื่อให้เป็นไปตามความตกลง JTEPA

Advertisement

Advertisement

และไม่ได้รับสิทธิยกเว้นอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 18) ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2553 ทั้งไม่ได้รับสิทธิลดอัตราอากรในอัตราอากรขาเข้าร้อยละ 30 ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศลกากร พ.ศ. 2530 การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ให้คิดอัตราอากรขาเข้าร้อยละ 80 ชอบแล้ว ส่วนประเด็นอื่นศาลไม่รับวินิจฉัย พิพากษายืน

คำชี้แจงจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ต่อคำพิพากษาจากศาลฎีกา

สมุทรปราการ ประเทศไทย วันที่ 15 กันยายน 2565 – วันนี้ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษาคดีพรีอุส ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับการตีความอัตราอากรขาเข้าสำหรับชิ้นส่วนรถยนต์พรีอุส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จึงใคร่ขอแถลงการณ์เกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าวดังต่อไปนี้

“บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (“บริษัทฯ“) ขอแสดงความเคารพต่อคำพิพากษาของศาลฎีกาในวันนี้ ทั้งนี้ คดีดังกล่าวนี้มีประเด็นเกี่ยวกับการตีความข้อกฎหมายซึ่งยังไม่เคยมีการวินิจฉัยมาก่อน และเป็นประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์และข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น กล่าวคือ บริษัทฯ ได้ใช้สิทธิประโยชน์ตามอนุสัญญาระหว่างสองประเทศ ที่เรียกว่าความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น (JTEPA) เพื่อลดอัตราอากรขาเข้าในการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์พรีอุส ซึ่งในปี 2553 หน่วยงานราชการของไทยที่เกี่ยวข้องได้อนุมัติการใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวแล้ว บริษัทฯ จึงมีความเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินการตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าดังกล่าวอย่างถูกต้องมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2555 กรมศุลกากรได้ตีความกฎการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์พรีอุสในแนวทางซึ่งแตกต่างไปจากเดิม ซึ่งทำให้บริษัทฯ มีภาระภาษีและอากรขาเข้าเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก คำพิพากษาของศาลฎีกาในวันนี้ได้ตีความในแนวทางเดียวกันกับการตีความของกรมศุลกากร ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ได้รับสำเนาคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว บริษัทฯ จะศึกษารายละเอียดของคำพิพากษา และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ต่อไป

บริษัทฯ ขอยืนยันว่า บริษัทฯ ยึดมั่นที่จะประกอบธุรกิจของบริษัทฯ ให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องทุกประการ โดยบริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยและพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อให้ลูกค้าในประเทศไทยได้รับความพึงพอใจสูงสุด และเพื่อส่งเสริมพันธกิจขององค์กรในการขับเคลื่อนความสุขสู่สังคมไทย”

TOYOTA / ประชาชาติธุรกิจ

Advertisement

Advertisement

คุณไม่สามารถคัดลอกเนื้อหาของหน้านี้ได้